Logo nipponnotsubo
ad head
header
หน้าแรก ความบันเทิง วัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ สังคม เทคโนโลยี แฟชั่น ธุรกิจ

ประสบการณ์การใช้ชีวิตในบ้านของคนญี่ปุ่น

ช่วงที่อยู่ชั้นม.ปลายได้มีโอกาสเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนของโรตารี่(Rotary)ที่ประเทศญี่ปุ่นค่ะ ตามกฎของโครงการจะต้องให้นักเรียนแลกเปลี่ยนทุกคนย้ายบ้านอุปถัมป์หรือโฮสแฟมิลี่ทุกๆสามเดือน เพื่อที่จะได้มีโอกาสเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่วัฒนธรรม มุมมองความคิดเห็นต่างๆจากแต่ละบ้านที่เราไปอยู่ ไม่ว่าบ้านแต่ละบ้าน จะไม่ดี แย่ ก็ต้องอดทนจนถึงขีดสุด หรือ บ้านนั้นจะสุขสบาย อยากอยู่ต่อขนาดไหน ก็จำเป็นต้องย้าย ส่วนตัวดิฉันเองมีทั้งหมดสี่บ้าน จากการย้ายบ้านบ่อยๆนี้ทำให้ดิฉันเป็นคนเข้มแข็งขึ้นมาก มีความคิดที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้น ความอดทนที่เพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญน้ำหนักก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย

studentช่วงแรกๆปัญหาที่สำคัญคือเรื่องการสื่อสารกับโฮสแฟมิลี่ ด้วยเพราะเรียนสายวิทย์ แต่ชอบดาราญี่ปุ่น ได้แค่ทักษะฟังที่เบสิกมากๆ แกรมม่าและอื่นๆก็ต้องฝึกฝนเอาเอง กับบ้านแรกจึงมีปัญหาเรื่องการสื่อสารมากหน่อย แต่ดิฉันทักษะฟังถูกพัฒนาขึ้นดีกว่าทักษะอื่นเพราะดูรายการดาราเยอะ พอเวลาโฮสพูดหรือนินทาเลยพอเข้าใจ ที่บ้านนี้ร้องไห้ โทรหาพ่อที่ไทยบ่อยมากๆ เข้าใจถึงสำนวน "คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก" อย่างถ่องแท้ แต่มันก็ทำได้แค่อดทน หลายครั้งที่บ้านนี้ "สร้างเรื่อง" ขึ้นมา หลายครั้งที่เป็นการใส่ร้าย และเราก็ไม่รู้อีกนะว่าเค้าเอาเรื่องของเราที่เค้าสร้างขึ้นมาแบบเสียๆหายๆนี่ ไปพูดกับใครมาแล้วบ้าง.. อดทน และทำใจ

นี่คือหลักการพื้นฐานสำคัญของเด็กแลกเปลี่ยน ช่วงแรกอาจจะเป็นช่วงที่เราปรับตัว ไม่ค่อยเข้าใจวัฒนธรรมที่เค้าแตกต่างจากเรา แต่บ้านนี้ เค้าดูถูกประเทศเราทุกอย่างเลยนะ อย่างเช่นว่า เค้าบอกว่า เค้าเคยไปเที่ยวภูเก็ตมาด้วย เราก็ดีใจ ถามว่าเป็นไง สวยใช่มั้ยหนูก็ยังไม่เคยไปเลย แต่เค้กลับตอบมาว่า ไม่กล้ากินอาหารเลย กลัวว่าปลาจะกินศพจากเหตุการณ์สึนามิ ซึ่ง แทนที่เค้าจะพูดถึงสิ่งที่ดีในภูเก็ต แต่กลับพูดแบบนี้กับเราซะงั้น ส่วนเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่าง ที่จำได้ขึ้นใจกับบ้านแรกเลยนี่คือห่อข้าว ที่โรงเรียนจะต้องห่อข้าวไปกิน แล้วพอดีที่ดิฉันทำข้าวปั้นหล่น ตกพื้น ก็เก็บมาห่อกระดาษาฟรอยด์อันเดิมแล้วยัดเข้ากล่องข้าว ให้แม่กำจัดเอง แต่ปรากฏว่าพอเค้าเห็นว่ามีข้าวปั้นเหลือมา เค้าโมโหเรามาก เราเลยพยายามอธิบายว่ามันหล่น แต่เค้าก็พูดว่า มันไม่อร่อยใช่มั้ย?

family เราก็ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้างั้นเลยทำท่า แล้วเอาไอ้ข้าวปั้นก้อนนั้นตกพื้นจริงๆให้ดูเลย เค้าก็ถามแบบเดิมว่า มันไม่อร่อยใช่มั้ย? เลยอธิบายอย่างเดิมอยู่นั่นตั้งเจ็ดแปดรอบ จนเราโมโหมาก ลงไปนอนร้องไห้ชักกะแด่วที่พื้น(เหมือนตอนเด็กที่งอแงจะเอาของเล่นเลย)แค่นั้นแหละ เค้าเข้าใจเราขึ้นมาทันทีทันใด.. หลังจากเหตุการณ์นั้น เราก็มีแต่คำถามว่า ทำไมเค้าถึงทำอย่างนี้นะ และเค้าก็ไม่อธิบายด้วยนะว่าวัฒนธรรมเค้าต้องกินให้หมดไม่ให้เหลือเลย มารู้เอาตอนที่อยู่บ้านโฮสที่สอง พอได้ย้ายบ้านก็ตั้งใจกับตัวเองไว้ว่า จะทำให้โฮสบ้านสองเห็นว่า เราไม่ได้เป็นอย่างที่โฮสแรกมาบอกเค้าเอาไว้นะ(มีแต่เรื่องแย่ๆทั้งนั้น สร้างขึ้นเองทั้งนั้นน่ะ)แล้วมันก็สำเร็จ เพราะเค้าก็จะชอบพูดว่า อ้าวไหนแม่บ้านแรกบอกว่าเป็นอย่างนี้ไม่ใช่เหรอ? ตลอดเวลาเลย เราเลยถ่องแท้แล้วว่า อ๋อ เค้าว่าเราแบบนี้นี่เองเหรอเนี่ย แล้วบ้านนี้ โฮสแม่เข้มงวด ต้องเป๊ะแบบนี้ๆทุกอย่าง ต้องมีการเตรียมการ ซึ่งเราชอบมาก เค้าสอนภาษาเราด้วย ตอนเย็นที่กินข้าวก็จะนั่งคุยเรื่องนู่นนี่ พยายามให้เราพูดฝึกฝนภาษา และพาไปสถานที่ต่างๆ พาศึกษาวัฒนธรรมประเพณีในสถานที่ต่างๆ ที่จำได้เลยคือ ในวันปีใหม่ เค้าพาเราไปที่วัดที่มีชื่อเสียงในจังหวัดคานากาว่า วัดใหญ่มากและคนก็เยอะมาก ไปขอพรและซื้อเครื่องรางเพื่อนำโชคในปีใหม่ที่จะมาถึง พอกลับมาที่บ้านก็ได้กินโมจิของเทศกาลปีใหม่ โฮสบ้านนี้พาทำทุกอย่าง และที่ปลื้มมากเลยก็คือ เค้าพาไปนอนโรงแรมของดิสนีย์ที่โตเกียวดิสนีย์แลนด์ เริ่มมีสิ่งดีดีเข้ามาในชีวิตการแลกเปลี่ยนขึ้นบ้างแล้ว

zouniในบ้านโฮสที่สามเป็นบ้านที่เฮฮามากๆ เข้ากันได้เป็นอย่างดีแต่กลับได้อยู่บ้านนี้เพียงแค่สองเดือน บ้านนี้ก็เหมือนบ้านที่สอง พาทำทุกอย่าง เพียงแต่บ้านนี้ให้ความเป็นเพื่อนมากกว่า โฮสแม่ชอบพูดเรื่องตลกๆ ฮาๆ มีทั้งโฮสพี่สาว พี่ชาย ที่อายุไม่ต่างกัน เลยทำให้ไม่เหงาเลย สนุกทุกวัน หรือนั่นอาจจะเป็นเพราะว่า เราเริ่มรับสภาพความเป็นอยู่ เริ่มซึมซับและเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากขึ้นแล้วก็ได้ ตอนเวลาเข้าหรือออกจากบ้านก็จะมีคำกล่าวทักทายคนในบ้านก่อน ซึ่งต้องตะโกนบอกกับทุกคนในบ้าน ซึ่งตอนที่อยู่บ้านแรกไม่มีใครบอกเลย และยังคิดว่าเป็นเรื่องน่าอายซะด้วยที่ต้องตะโกนไปแบบนั้น แต่พอมาอยู่บ้านหลังอื่นๆ กลับกลายเป็นเรื่องที่สนุกไปซะงั้น พออยู่ในบ้านหลังสุดท้ายก็คือเรียนรู้มาเต็มที่ ซึมซับมาหมดแล้ว เลยวางตัวได้ถูกหมด แก้ข่าวเสียหายของตัวได้แล้วด้วยการใช้ศัพท์ง่ายๆ ภาษามือ และท่าทางประกอบ การไปอยู่หนึ่งปีที่นั่น ทำให้ตัวเองเป็นผู้ใหญ่ขึ้นได้จริงๆ เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง ฝึกความอดทน สู้กับปัญหาต่างๆด้วยตัวเราเองได้นั้น รู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก และเมื่อกลับมาที่ประเทศตัวเอง ก็กลายเป็นว่าตัวเองเป็นคนที่มีความกล้ามากยิ่งขึ้น มักจะคิดเสมอว่า "ไปอยู่ต่างประเทศตั้งหนึ่งปี พูดก็ไม่ได้ ไม่ค่อยเข้าใจภาษาของประเทศนั้นๆ แต่เราก็ยังอยู่รอดมาได้ ทำไมเรื่องแค่นี้ในประเทศเราเอง จะทำไม่ได้วะ" by Bow

คอลัมน์ที่เขียนโดยนักเรียนที่ศึกษาภาษาญี่ปุ่น

หม้อความรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่น nipponnotsubo にっぽんの壷

右上大型広告
Custom Search
Copyright © 2011 Nipponnotsubo.Inc.
All Right Reserved.
nipponnotsubo@gmail.com
nipponnotsubo@hotmail.com